The cookie settings on this website are adjusted to allow all cookies so that you have the very best experience. If you continue without changing your cookie settings, we'll assume that you are happy to receive all cookies on our website. However, if you would like to, you can change your settings at any time using the Change cookie settings link in the Special menu.        
Home :: UPS

UPS

ปกป้องมั่นใจเมื่อใช้ UPS

ฝนตกมาอยู่เรื่อยเลยนะครับ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผมโชคดีสัก หน่อยที่ได้มีโอกาสหลบฝนกรุงเทพไปรับแดดริมทะเลที่ภูเก็ต ก่อนจะกลับมาเจอกับมรสุมฝนอีกครั้ง ก็เล่นเอาเบื่อไปเหมือนกันนะครับ เพราะจะเดินทางไปไหนก็ลำบาก รถก็ติด และแถมยังต้องเร่งปั่นบทความส่งต้นฉบับอีก เพราะท่านบ.ก.ก็เดินมาทวงเมื่อถึงเวลา ...แหม บอกตรงๆ นะครับ บางครั้งหัวผมก็ไม่แล่น คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะหยิบเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ผู้อ่าน Bthai แต่ประจวบเหมาะกับฝนฟ้าเป็นใจครับ ผมก็เลยได้ไอเดียของเรื่องที่จะนำมาเขียนในครั้งนี้

เมื่อมีฝนตก ก็แน่นอนว่าต้องมีเรื่อง ของฟ้าร้อง ฟ้าผ่าตามมาด้วย หรือบางครั้งก็มีไฟดับแถมเข้าให้ ถ้าเราอยู่บ้านดูทีวีก็คงจะกลายเป็นว่าไม่มีอะไรทำ แต่ถ้าเป็นในช่วงที่กำลังทำงานค้างไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ละครับ อะไรจะเกิดขึ้น ...ข้อมูลก็ต้องหายไปหมดนะสิครับ หากไม่มีการเซฟข้อมูลไว้ก่อน ส่วนเรื่องของฟ้าผ่านั้น ก็ทำเอาเสียวๆ อยู่เหมือนกันว่าจะผ่าลงใกล้บ้านจนทำให้เครื่องคอมพ์สุดรักสุดหวงมีอันเป็น ไปหรือเปล่า แล้วอย่างนี้จะแก้ไขได้อย่างไร คำตอบก็คงอยู่ที่อุปกรณ์ที่เรารู้จักกันในชื่อของ UPS นั่นแหละครับ

UPS หรือ Uninterruptible Power Supply เป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการสำรองไฟ เพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่อเชื่อมกับ UPS อยู่สามารถใช้งานต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันปัญหาที่เกิดจากไฟตกไฟเกินด้วย ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผ่านเครื่อง UPS นั้น จะมีการกรองและปรับระดับของกระแสไฟให้สม่ำเสมอและคงที่ ซึ่งผมเองนั้น ก็เคยเป็นคนหนึ่งครับที่ไม่เห็นความจำเป็นของยูพีเอส จนเมื่อมีปัญหาเรื่องกระแสไฟในหมู่บ้าน (เนื่องจากใกล้บ้านมีร้านที่ทำงานด้านโลหะ ต้องมีการเชื่อมเหล็กทุกวัน) จนสุดท้ายคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ก็เสียหายครับ นี่ยังไม่นับรวมเรื่องของข้อมูลหายอันเนื่องมาจากไฟดับด้วย

เอาละครับ หากใครเริ่มสนใจที่จะซื้อ หา UPS มาใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองก็ควรจะรู้ข้อมูลเบื้องต้นของ UPS ก่อนนะครับจะได้เลือกซื้อได้ถูกต้อง ตรงกับความต้องการจริงๆ ซึ่งสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ก็คือค่า VA หรือ Volt-Ampere ของ UPS ที่จะเป็นค่าซึ่งบอกให้ทราบว่า UPS รุ่นนั้น มีกำลังการจ่ายไฟฟ้าเท่าไหร่ เช่น 500 VA ก็จะเป็น UPS ที่มีกำลังการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เพียงแค่ 500 VA เท่านั้น หากมีการนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้เกินกว่านี้ก็จะเกิดการโอเวอร์โหลด และ UPS ก็จะไม่ทำงาน ซึ่งหากเป็นคอมพิวเตอร์ 1 ชุด (จอ 15 นิ้ว) โดยปกติจะต้องการกระแสไฟฟ้า ประมาณ 200 VA ดังนั้น UPS ที่มีกำลังการจ่ายไฟ 500 VA ก็สามารถที่จะจ่ายไฟใกับคอมพิวเตอร์มาตรฐานถึง 2 เครื่องด้วยกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อ ก็ควรจะรู้ด้วยว่า UPS ที่ต้องการนำมาใช้นั้น จะนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์จำนวนกี่เครื่องและแต่ละเครื่องใช้ไฟเท่าไหร่

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรรู้ก็คือในส่วนของBackup-time หรือเวลาในการสำรองข้อ มูล ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้คุณรู้ว่า หลังจากที่เกิดไฟดับนั้น UPS ที่คุณใช้จะมีขีดความ สามารถในการจ่ายไฟให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ เช่น 10 นาที 15 นาที แต่ในส่วนของ Backup time นี้ บางครั้งข้อมูลที่ให้มาจากผู้ผลิต UPS ก็ไม่ตรงเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังการใช้ไฟฟ้าและอายุของแบตเตอรีสำรองไฟใน ตัว UPS ด้วย (ควรจะเปลี่ยนทุก 2-3 ปี) ดังนั้นในการใช้งานก็ควรจะมีการทดสอบยูพีเอสด้วยว่า มีขีดความสามารถในการจ่ายไฟสำหรับการใช้งานจริงนานเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้รู้ว่าถึงเวลาของการ Shut down หรือยัง เมื่อมีปัญหาไฟดับ

นอกจากนี้แล้ว การเลือกซื้อ UPS ก็ยังมีอีกหลายๆ เรื่องเช่นกัน แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ผมคิดว่า เพียง 2 เรื่องนี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะในเรื่องของการมีซอฟต์แวร์ควบคุม เรื่องของ Hotswap นั้น ผมเชื่อว่า การใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงไม่ได้ใช้สักเท่าไหร่หรอกครับ เพราะเรื่องเหล่านั้น เป็นฟีเจอร์ที่ผู้บริหารระบบต้องให้ความสนใจอยู่และที่สำคัญ ผู้บริหารระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้ เขารู้ของเขาว่าจะซื้ออะไร อย่างไร ผมก็เลยไม่เขียนเผื่อแผ่ไปถึง

สำหรับระดับราคาของ UPS ที่มี จำหน่ายอยู่ในตลาดนั้น ก็มีอยู่ด้วยกันหลายระดับครับ ตั้งแต่ พันกว่าบาท ไปจนถึงระดับหลายแสนบาทเลย แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปของเรานั้น UPS ขนาด 350VA-650 VA เป็นยูพีเอสที่กำลังเหมาะสำหรับการใช้งาน ครับ ส่วนราคาก็อยู่ที่ประมาณ พันกว่าบาทถึงแปดพัน บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของยูพีเอสที่เลือกใช้

ปกป้องข้อมูลของคุณ ด้วยเครื่องสำรองไฟฟ้า APC

ขอบคุณข้อมูลจาก arip.co.th