Home :: UPS

UPS

ปกป้องมั่นใจเมื่อใช้ UPS

ฝนตกมาอยู่เรื่อยเลยนะครับ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผมโชคดีสัก หน่อยที่ได้มีโอกาสหลบฝนกรุงเทพไปรับแดดริมทะเลที่ภูเก็ต ก่อนจะกลับมาเจอกับมรสุมฝนอีกครั้ง ก็เล่นเอาเบื่อไปเหมือนกันนะครับ เพราะจะเดินทางไปไหนก็ลำบาก รถก็ติด และแถมยังต้องเร่งปั่นบทความส่งต้นฉบับอีก เพราะท่านบ.ก.ก็เดินมาทวงเมื่อถึงเวลา ...แหม บอกตรงๆ นะครับ บางครั้งหัวผมก็ไม่แล่น คิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะหยิบเอาเรื่องอะไรมาเล่าให้ผู้อ่าน Bthai แต่ประจวบเหมาะกับฝนฟ้าเป็นใจครับ ผมก็เลยได้ไอเดียของเรื่องที่จะนำมาเขียนในครั้งนี้

เมื่อมีฝนตก ก็แน่นอนว่าต้องมีเรื่อง ของฟ้าร้อง ฟ้าผ่าตามมาด้วย หรือบางครั้งก็มีไฟดับแถมเข้าให้ ถ้าเราอยู่บ้านดูทีวีก็คงจะกลายเป็นว่าไม่มีอะไรทำ แต่ถ้าเป็นในช่วงที่กำลังทำงานค้างไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ละครับ อะไรจะเกิดขึ้น ...ข้อมูลก็ต้องหายไปหมดนะสิครับ หากไม่มีการเซฟข้อมูลไว้ก่อน ส่วนเรื่องของฟ้าผ่านั้น ก็ทำเอาเสียวๆ อยู่เหมือนกันว่าจะผ่าลงใกล้บ้านจนทำให้เครื่องคอมพ์สุดรักสุดหวงมีอันเป็น ไปหรือเปล่า แล้วอย่างนี้จะแก้ไขได้อย่างไร คำตอบก็คงอยู่ที่อุปกรณ์ที่เรารู้จักกันในชื่อของ UPS นั่นแหละครับ

UPS หรือ Uninterruptible Power Supply เป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการสำรองไฟ เพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่อเชื่อมกับ UPS อยู่สามารถใช้งานต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันปัญหาที่เกิดจากไฟตกไฟเกินด้วย ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผ่านเครื่อง UPS นั้น จะมีการกรองและปรับระดับของกระแสไฟให้สม่ำเสมอและคงที่ ซึ่งผมเองนั้น ก็เคยเป็นคนหนึ่งครับที่ไม่เห็นความจำเป็นของยูพีเอส จนเมื่อมีปัญหาเรื่องกระแสไฟในหมู่บ้าน (เนื่องจากใกล้บ้านมีร้านที่ทำงานด้านโลหะ ต้องมีการเชื่อมเหล็กทุกวัน) จนสุดท้ายคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ก็เสียหายครับ นี่ยังไม่นับรวมเรื่องของข้อมูลหายอันเนื่องมาจากไฟดับด้วย

เอาละครับ หากใครเริ่มสนใจที่จะซื้อ หา UPS มาใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองก็ควรจะรู้ข้อมูลเบื้องต้นของ UPS ก่อนนะครับจะได้เลือกซื้อได้ถูกต้อง ตรงกับความต้องการจริงๆ ซึ่งสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ก็คือค่า VA หรือ Volt-Ampere ของ UPS ที่จะเป็นค่าซึ่งบอกให้ทราบว่า UPS รุ่นนั้น มีกำลังการจ่ายไฟฟ้าเท่าไหร่ เช่น 500 VA ก็จะเป็น UPS ที่มีกำลังการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เพียงแค่ 500 VA เท่านั้น หากมีการนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้เกินกว่านี้ก็จะเกิดการโอเวอร์โหลด และ UPS ก็จะไม่ทำงาน ซึ่งหากเป็นคอมพิวเตอร์ 1 ชุด (จอ 15 นิ้ว) โดยปกติจะต้องการกระแสไฟฟ้า ประมาณ 200 VA ดังนั้น UPS ที่มีกำลังการจ่ายไฟ 500 VA ก็สามารถที่จะจ่ายไฟใกับคอมพิวเตอร์มาตรฐานถึง 2 เครื่องด้วยกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อ ก็ควรจะรู้ด้วยว่า UPS ที่ต้องการนำมาใช้นั้น จะนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์จำนวนกี่เครื่องและแต่ละเครื่องใช้ไฟเท่าไหร่

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรรู้ก็คือในส่วนของBackup-time หรือเวลาในการสำรองข้อ มูล ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้คุณรู้ว่า หลังจากที่เกิดไฟดับนั้น UPS ที่คุณใช้จะมีขีดความ สามารถในการจ่ายไฟให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ เช่น 10 นาที 15 นาที แต่ในส่วนของ Backup time นี้ บางครั้งข้อมูลที่ให้มาจากผู้ผลิต UPS ก็ไม่ตรงเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังการใช้ไฟฟ้าและอายุของแบตเตอรีสำรองไฟใน ตัว UPS ด้วย (ควรจะเปลี่ยนทุก 2-3 ปี) ดังนั้นในการใช้งานก็ควรจะมีการทดสอบยูพีเอสด้วยว่า มีขีดความสามารถในการจ่ายไฟสำหรับการใช้งานจริงนานเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้รู้ว่าถึงเวลาของการ Shut down หรือยัง เมื่อมีปัญหาไฟดับ

นอกจากนี้แล้ว การเลือกซื้อ UPS ก็ยังมีอีกหลายๆ เรื่องเช่นกัน แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ผมคิดว่า เพียง 2 เรื่องนี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะในเรื่องของการมีซอฟต์แวร์ควบคุม เรื่องของ Hotswap นั้น ผมเชื่อว่า การใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงไม่ได้ใช้สักเท่าไหร่หรอกครับ เพราะเรื่องเหล่านั้น เป็นฟีเจอร์ที่ผู้บริหารระบบต้องให้ความสนใจอยู่และที่สำคัญ ผู้บริหารระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้ เขารู้ของเขาว่าจะซื้ออะไร อย่างไร ผมก็เลยไม่เขียนเผื่อแผ่ไปถึง

สำหรับระดับราคาของ UPS ที่มี จำหน่ายอยู่ในตลาดนั้น ก็มีอยู่ด้วยกันหลายระดับครับ ตั้งแต่ พันกว่าบาท ไปจนถึงระดับหลายแสนบาทเลย แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปของเรานั้น UPS ขนาด 350VA-650 VA เป็นยูพีเอสที่กำลังเหมาะสำหรับการใช้งาน ครับ ส่วนราคาก็อยู่ที่ประมาณ พันกว่าบาทถึงแปดพัน บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของยูพีเอสที่เลือกใช้

ปกป้องข้อมูลของคุณ ด้วยเครื่องสำรองไฟฟ้า APC

ขอบคุณข้อมูลจาก arip.co.th